วันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2554

งานวิจัย ปรด

1.                  ชื่อเรื่อง   การพัฒนาโปรแกรมการเต้นแอโรบิกมวยไทยที่ทำให้เกิดการใช้พลังงานและสมรรถภาพการใช้ออกซิเจนสูงสุด (THE DEVELOPMENT OF MUAY THAI AEROBIC DANCE PROGRAM FOR ENERGY EXPENDITURE AND MAXIMUM OXYGEN UPTAKE)
ชื่อผู้วิจัย                 นางสุดา กาญจนะวณิชย์
ปีที่วิจัย                   2550
2.               ความมุ่งหมายของการวิจัย
1. เพื่อพัฒนาโปรแกรมการเต้นแอโรบิกมวยไทยที่ทำให้เกิดการใช้พลังงานและสมรรถภาพการใช้ออกซิเจนสูงสุด
2. เพื่อศึกษาผลการพัฒนาการใช้พลังงานและสมรรถภาพการใช้ออกซิเจนสูงสุดภายในโปรแกรมการเต้นแอโรบิกมวยไทยที่มีความหนักของงานแตกต่างกัน 3 โปรแกรม
3. เพื่อเปรียบเทียบผลของการใช้พลังงานและสมรรถภาพการใช้ออกซิเจนสูงสุดของโปรแกรมการเต้นแอโรบิกมวยไทยที่มีความหนักของงานแตกต่างกัน 3 โปรแกรม
3.               ขอบเขตของการวิจัย
3.1         ประชากรและกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นนิสิตหญิงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่มีสุขภาพดี
3.2         ตัวแปรที่ใช้ในการศึกษา
1. ตัวแปรอิสระ (Independent variables) มี 3 ตัว คือ โปรแกรมการเต้นแอโรบิกมวยไทย 3 โปรแกรม ที่มีความหนักของงานระหว่าง 55-65%,66-75%และ76-85% ของอัตราการเต้นของหัวใจสำรอง ที่เป็นชุดประกอบด้วย 20 ท่าชุด โดยมีช่วงอบอุ่นร่างกาย 5 ท่าชุด (10 นาที) ช่วงแอโรบิก 10 ท่าชุด (30 นาที) ช่วงผ่อนคลายกล้ามเนื้อ 5 ท่าชุด (10 นาที) ที่ความหนักของงานระหว่าง 55-65%,66-75%และ76-85% ของอัตราการเต้นของหัวใจสำรอง เวลาที่ใช้ในการเต้นแอโรบิก มวยไทยโปรแกรมละ 50 นาที เท่ากันทั้ง 3 โปรแกรม
2. ตัวแปรตาม (Dependent variables) มี 2 ตัว คือ ปริมาณการใช้พลังงานขณะเต้นแอโรบิก มวยไทย และสมรรถภาพการใช้ออกซิเจนสูงสุด ที่มีความหนักของงานระหว่าง 55-65%,66-75% และ76-85%ของอัตราการเต้นของหัวใจสำรอง 
4.               วิธีดำเนินการศึกษาค้นคว้า
4.1         การกำหนดประชากรและเลือกกลุ่มตัวอย่าง
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นนิสิตหญิงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่มีสุขภาพดี อาสาสมัครเข้าร่วมการทดลอง จำนวน 63 คน อายุระหว่าง 18-22 ปี และผู้วิจัยใช้เกณฑ์การแบ่งกลุ่มโดยเรียงลำดับค่าจากการทดสอบสมรรถภาพการใช้ออกซิเจนสูงสุด แล้วสุ่มเข้ากลุ่มโดยการ จับสลาก (Randomized block design sampling) กลุ่มทดลองจะคล้ายคลึงกันมากที่สุด และกลุ่มตัวอย่างมีจำนวน 3 กลุ่ม ๆ ละ 21 คน รวมทั้งหมด 63 คน
4.2         การสร้างเครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้า
เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโปรแกรมการเต้นแอโรบิกมวยไทย
1. โปรแกรมการเต้นแอโรบิกมวยไทยจำนวน 3 โปรแกรมที่มีความหนักของงานแตกต่างกัน คือ ระหว่าง 55-65%,66-75%และ76-85% ของอัตราการเต้นของหัวใจสำรอง ใช้ระยะเวลา ในการทดลอง 12 สัปดาห์ ค่าความตรงเชิงเนื้อหา หรือค่าดัชนีความสอดคล้องของโปรแกรมการเต้นแอโรบิกมวยไทยทั้ง 3 โปรแกรม เท่ากับ 0.97 ค่าความเชื่อมั่นของโปรแกรมการเต้นแอโรบิกมวยไทยทั้ง 3 โปรแกรม ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
1.1 โปรแกรมการเต้นแอโรบิกมวยไทยทั้งหมดประกอบด้วย 20 ท่าชุด ดังนี้
ช่วงอบอุ่นร่างกายมี 5 ท่าชุด
ท่าชุดที่ 1 ควงหมัด ประกอบด้วยท่ามวยไทย ยืนสองขุม ควงหมัด
ท่าชุดที่ 2 ย่างสามขุม-ศอกกลับ ประกอบด้วยท่ามวยไทย ยืนสองขุมระวังบน ย่างสามขุม ควงหมัด ศอกกลับ
ท่าชุดที่ 3 ควงหมัด-ชกตรง ประกอบด้วยท่ามวยไทย ยืนสองขุมระวังบน ควงหมัด หมัดตรง
ท่าชุดที่ 4 เดินสี่ทิศ ประกอบด้วยท่ามวยไทย ยืนสองขุมระวังบน (จรดมวย หรือป้องหน้า)
ท่าชุดที่ 5 หมัดแตะ ประกอบด้วยท่ามวยไทย ยืนสองขุมระวังบน หมัดแตะหรือ หมัดยัน
ช่วงการเต้นแอโรบิกมวยไทยมี 10 ท่าชุด
ท่าชุดที่ 1 ศอกกลับ-หมัดยัน ประกอบด้วยท่ามวยไทย ยืนสองขุมระวังบน ศอกลับ หมัดยัน
ท่าชุดที่ 2 เถรกวาดลาน ประกอบด้วยท่ามวยไทย ยืนสองขุมระวังบน เตะต่ำ (เถรกวาดลาน) เตะสูง เข่าหน้า ถีบหน้า ปัดในล่าง
ท่าชุดที่ 3 จักรศรนารายณ์ ประกอบด้วยท่ามวยไทย ยืนสองขุมระวังบน ศอกกลับ (จักรศรนารายณ์) หมัดชกตรง
ท่าชุดที่ 4 เข่าต่อศอก ประกอบด้วยท่ามวยไทย ยืนสองขุมระวังบน ควงหมัด เข่าต่อศอก หมัดตรง
ท่าชุดที่ 5 โน้มคอตีเข่า ประกอบด้วยท่ามวยไทย ยืนสองขุมระวังบน โน้มคอตีเข่า เข่าลอย เข่าเฉียง
ท่าชุดที่ 6 เตะสูง ประกอบด้วยท่ามวยไทย ยืนสองขุมระวังบน เตะสูง
ท่าชุดที่ 7 กวางเหลียวหลัง ประกอบด้วยท่ามวยไทย ถีบหลัง (กวางเหลียวหลัง) เข่าหน้า
ท่าชุดที่ 8 หมัด-เข่า-ศอก ประกอบด้วยท่ามวยไทย ยืนสองขุมระวังบน หมัดตรง เข่าเฉียง ศอกตัด ท่าชุดที่ 9 เข่า-เตะ-ชก ประกอบด้วยท่ามวยไทย เข่าเฉียง ถีบหน้า มัดชกตรง หมัดเหวี่ยง
ท่าชุดที่ 10 ศอกกลับ-หมัดยัน ประกอบด้วยท่ามวยไทย ยืนสองขุมระวังบน หมัดยัน หมัดชกตรง ศอกกลับ
ช่วงผ่อนคลายกล้ามเนื้อมี 5 ท่าชุด
ท่าชุดที่ 1 ย่างสามขุมตีศอก ประกอบด้วยท่ามวยไทย ยืนสองขุมระวังบน ย่างสามขุมหน้า-หลัง ศอกงัด ศอกถอง ศอกตัด ศอกกลับ
ท่าชุดที่ 2 ย่างสามขุมเทพพนม ประกอบด้วยท่ามวยไทย ยืนสองขุม ย่างสามขุมเทพพนม เข่าหน้า เตะตรง ท่าหลบ หมัดชกเฉียง
ท่าชุดที่ 3 เข่าหน้า-หลบ-ชกตรง ประกอบด้วยท่ามวยไทย ยืนสองขุมระวังบน เข่าหน้า หมัดชกตรง เข่าต่อศอก
ท่าชุดที่ 4 กินรีเล่นหางประกอบด้วยท่ามวยไทย ยืนสองขุมระวังบน กินรีเล่นหาง ควงหมัด
ท่าชุดที่ 5 เสือทำลายห้าง-ช้างทลายโลง ประกอบด้วยท่ามวยไทย ยืนสองขุมระวังล่าง ปัดนอกบน เสือทำลายห้าง ช้างทลายโลง
โปรแกรมการเต้นแอโรบิกมวยไทยที่มีความหนักของงานแตกต่างกัน 3 โปรแกรม มีท่าชุดของการเคลื่อนไหวเหมือนกันทั้งหมด แต่ลักษณะการเคลื่อนไหวของร่างกายจะแตกต่างกันโดยสามารถเพิ่มความหนักของงานได้ เช่น การเพิ่มความกว้างและความสูงของการเคลื่อนไหว ทั้ง 3 โปรแกรม มีดังต่อไปนี้
โปรแกรมที่ 1 (ความหนักของงานระหว่าง 55-65% HRR) กำหนดความหนักของการเต้น แอโรบิกมวยไทย ระหว่าง 55-65% ของอัตราการเต้นของหัวใจสำรอง โดยใช้การเคลื่อนไหวชนิดที่ไม่มีแรงกระแทก (Non impact) คือขณะเคลื่อนไหวเท้าทั้งสองข้างติดอยู่กับพื้น เช่น การยืนบนพื้นด้วยเท้าทั้งสองข้างผสมผสานกับการใช้การเคลื่อนไหวชนิดที่มีแรงกระแทกต่ำ (Low impact) กล่าวคือขณะเคลื่อนไหวเท้าใดเท้าหนึ่งจะต้องอยู่บนพื้นเสมอ
โปรแกรมที่ 2 (ความหนักของงานระหว่าง 66-75% HRR) กำหนดความหนักของการเต้น แอโรบิกมวยไทยอยู่ระหว่าง 66-75% ของอัตราการเต้นของหัวใจสำรอง โดยใช้การเคลื่อนไหวชนิดที่มีแรงกระแทกผสม (Multi impact) คือการผสมผสานการเคลื่อนไหวชนิดมีแรงกระแทกสูงและแรงกระแทกต่ำ (High impact and low impact)
โปรแกรมที่ 3 (ความหนักของงานระหว่าง 76-85% HRR) กำหนดความหนักของการเต้น แอโรบิกมวยไทยอยู่ระหว่าง 76-85% ของอัตราการเต้นของหัวใจสำรอง โดยใช้การเคลื่อนไหวชนิดที่มีแรงกระแทกสูง (High impact) เป็นส่วนมาก อาจจะมีการผสมผสานกับการเคลื่อนไหวชนิดที่มีแรงกระแทกต่ำและแรงกระแทกสูง (Multi impact) สลับกันไปด้วย
1.2 แบบประเมินความเหมาะสมตามองค์ประกอบของการเต้นแอโรบิกมวยไทย
1.3 ควบคุมความหนักของงานของแต่ละกลุ่มโดยตรวจสอบจากเครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจของแต่ละคนจากเครื่องบันทึกอัตราการเต้นของหัวใจที่ข้อมือทุก ๆ 5 นาที
เครื่องมือที่ใช้ในการวัดสมรรถภาพการใช้ออกซิเจนสูงสุด
1. เครื่องบันทึกอัตราการเต้นของหัวใจแบบไร้สายยี่ห้อโพล่ารุ่น “M53” จากประเทศฟินแลนด์
2. เครื่องลู่กล (Treadmill) สามารถปรับความชันได้สูงสุด 25% และปรับความเร็วสูงสุดได้ 11 ไมล์ต่อชั่วโมง ยี่ห้อ “Landice” (Randolph, NJ, USA)
3. เครื่องวัดสมรรถภาพของระบบไหลเวียนเลือด และระบบหายใจแบบเคลื่อนที่ (Portable cardiopulmonary exercise system) ยี่ห้อคอร์เท็ก (Cortex) รุ่น“Metamax3B:Breath by Breath” จากประเทศเยอรมนี ใช้วัดสมรรถภาพการใช้ออกซิเจนสูงสุด
เครื่องมือที่ใช้ในการวัดการใช้พลังงาน
1. เครื่องบันทึกอัตราการเต้นของหัวใจแบบไร้สายยี่ห้อโพล่ารุ่น “M53” จากประเทศฟินแลนด์ ใช้วัดพลังงานในขณะเต้นแอโรบิกมวยไทย คอมพิวเตอร์และโปรแกรมสำเร็จรูปของโพล่า
เครื่องมืออื่น ๆ
1. เครื่องชั่งน้ำหนัก และวัดส่วนสูง
2. เครื่องเล่นซีดี และแผ่นซีดีเพลง
3. สถานที่ที่ใช้ทดลองฝึกเต้นแอโรบิกมวยไทย มีการควบคุมอุณหภูมิของห้องระหว่าง 23-25 องศาเซลเซียส 
4.3         การเก็บรวบรวมข้อมูล
การเก็บรวบรวมข้อมูล การใช้พลังงานหลังการทดลอง 2 สัปดาห์ หลังการทดลอง 7 สัปดาห์ และหลังการทดลอง 12 สัปดาห์ และสมรรถภาพการใช้ออกซิเจนสูงสุด ก่อนการทดลอง หลัง การทดลอง 7 สัปดาห์ และหลังการทดลอง 12 สัปดาห์ เหมือนกันทั้ง 3 กลุ่ม
1. น้ำหนักร่างกาย หน่วยที่วัดเป็น กิโลกรัม
2. ส่วนสูง หน่วยที่วัดเป็น เซนติเมตร
3. อัตราการเต้นของหัวใจขณะพัก หน่วยที่วัดเป็น ครั้ง/นาที
4. สมรรถภาพการใช้ออกซิเจนสูงสุด เดินบนลู่กลโดยใช้ “Modified Bruce treadmill protocol” และวัดสมรรถภาพการไหลเวียนเลือดและการหายใจ (Portable Cardiopulmonary exercise system) มีหน่วยวัดเป็น มิลลิลิตร/กิโลกรัม/นาที
5. การใช้พลังงานของร่างกาย ขณะออกกำลังกายที่มีความหนักของงานต่างกัน 3 ระดับจากเครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจโพล่ารุ่น “M53” และโปรแกรมสำเร็จรูปโพล่า มีหน่วยวัดเป็น กิโลแคลอรี่ 
4.4         การจัดกระทำและการวิเคราะห์ข้อมูล
นำข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้จากกลุ่มตัวอย่างมาทำการวิเคราะห์โดยใช้คอมพิวเตอร์โปรแกรมสำเร็จรูป เอส พี เอส เอส (SPSS/PC version 11.5:Statistical package for the social sciences for personal computer) รุ่น 11.5 โดยหาค่าต่าง ๆ ดังนี้
1. หาค่ามัชฌิมเลขคณิต (Mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard deviation) ของ ปริมาณการใช้พลังงานหลังการทดลอง 2 สัปดาห์ หลังการทดลอง 7 สัปดาห์ และหลังการทดลอง 12 สัปดาห์ และสมรรถภาพการใช้ออกซิเจนสูงสุดในการเต้นแอโรบิกมวยไทย ก่อนการทดลอง หลังการทดลอง 7 สัปดาห์ และหลังการทดลอง 12 สัปดาห์ ทั้ง 3 กลุ่ม
2. ทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยระหว่างกลุ่มของการใช้พลังงาน หลังการทดลอง 2 สัปดาห์ หลังการทดลอง 7 สัปดาห์ และหลังการทดลอง 12 สัปดาห์ และสมรรถภาพการใช้ออกซิเจนสูงสุด ก่อนการทดลอง หลังการทดลอง 7 สัปดาห์ และหลังการทดลอง 12 สัปดาห์ ทั้ง 3 กลุ่ม โดยการทดสอบค่า เอฟ” (F-test)
3. วิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียวแบบวัดซ้ำ(One-way analysis of variance with repeated measures) ของค่าเฉลี่ยของการใช้พลังงาน หลังการทดลอง 2 สัปดาห์ หลังการทดลอง 7 สัปดาห์ และหลังการทดลอง 12 สัปดาห์ และสมรรถภาพการใช้ออกซิเจนสูงสุดภายในกลุ่มฝึกเต้นแอโรบิกมวยไทย ก่อนการทดลอง หลังการทดลอง 7 สัปดาห์ และหลังการทดลอง 12 สัปดาห์ ทั้ง 3 กลุ่ม หากพบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยก็นำมาเปรียบเทียบความแตกต่างเป็นรายคู่ตามวิธีของแอลเอสดี (LSD)
4. ทดสอบความมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 
5.               สรุปผลการศึกษาค้นคว้า
ผลการวิจัยพบว่า
1. โปรแกรมการเต้นแอโรบิกมวยไทย ทั้ง 3 โปรแกรมที่มีความหนักของงานแตกต่างกัน (55-65%,66-76%และ76-85% ของอัตราการเต้นของหัวใจสำรอง) สามารถพัฒนาให้เป็นการเต้นแอโรบิกที่ทำให้เกิดการใช้พลังงานและสมรรถภาพการใช้ออกซิเจนสูงสุดได้ ซึ่งโปรแกรมการเต้นแอโรบิกมวยไทย ทั้ง 3 โปรแกรมมีความตรงเชิงเนื้อหา โดยมีค่าดัชนีความสอดคล้องระหว่าง 0.80-1.00 หมายความว่ามีค่าความตรงดีมาก และมีค่าความเชื่อมั่นจากการทดสอบโปรแกรมการเต้นแอโรบิกมวยไทย ทั้ง 3 โปรแกรมที่มีระยะห่างกัน 1 สัปดาห์ พบว่าไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
2. กลุ่มฝึกเต้นแอโรบิกมวยไทยทั้ง 3 โปรแกรม หลังการทดลอง 2 สัปดาห์ หลังการทดลอง 7 สัปดาห์ และหลังการทดลอง 12 สัปดาห์ มีการพัฒนาการใช้พลังงาน 50 นาที และสมรรถภาพการใช้ออกซิเจนสูงสุด ก่อนการทดลอง หลังการทดลอง 7 สัปดาห์ และหลังการทดลอง 12 สัปดาห์ เพิ่มขึ้นแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. กลุ่มฝึกเต้นแอโรบิกมวยไทยทั้ง 3 โปรแกรม หลังการทดลอง 12 สัปดาห์ เปรียบเทียบการใช้พลังงาน 50 นาที ระหว่างกลุ่มที่มีความหนักของงานระหว่าง 55-65% กับ 66-75% และ 55-65% กับ 76-85% ของอัตราการเต้นของหัวใจสำรองแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.05 ส่วนความหนักของงานระหว่าง 66-75% กับ 76-85% ของอัตราการเต้นของหัวใจสำรองมีการใช้พลังงานไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.05 และสมรรถภาพการใช้ออกซิเจนสูงสุดทุกกลุ่มไม่แตกต่างกันอย่าง มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 สรุปได้ว่า การฝึกเต้นแอโรบิกมวยไทย ทั้ง 3 โปรแกรมที่มีความหนักของงานแตกต่างกัน หลังการทดลอง 12 สัปดาห์ สามารถเพิ่มการใช้พลังงานและสมรรถภาพการใช้ออกซิเจนสูงสุดได้ ควรเลือกโปรแกรมที่เหมาะสมกับสมรรถภาพของร่างกาย อย่างไรก็ตามการเต้นแอโรบิกมวยไทยที่มีความหนักของงานระหว่าง 66-75% ของอัตราการเต้นของหัวใจสำรอง สามารถเพิ่มการใช้พลังงานมากกว่าจากสัปดาห์ที่ 2 ถึงสิ้นสุดการทดลอง 12 สัปดาห์ และหากต้องการเพิ่มสมรรถภาพการใช้ออกซิเจนสูงสุดให้มีประสิทธิผลสูงสุด ควรเลือกโปรแกรมที่มีความหนักของงานระหว่าง 76-85% ของอัตราการเต้นของหัวใจสำรอง



คุณภาพชีวิตของมนุษย์นั้นเกี่ยวข้องกับปัจจัยหลายประการ และการออกกำลังกายและการเล่นกีฬาก็เป็นกิจกรรมหนึ่งซึ่งส่งเสริมให้มนุษย์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  เพราะช่วยพัฒนาสมรรถภาพทางกายซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งของการมีสุขภาพดี  
องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ได้เห็นถึงความสำคัญของการจัดการศึกษาพื้นฐานเพื่อปวงชนในส่วนที่เกี่ยวกับสุขภาพ  โดยแบ่งออกเป็นสองส่วน  คือ  ด้านสุขภาพ  (สุขศึกษา)  และด้านสมรรถภาพ  (พลศึกษาและกีฬา)  ในปีพ.ศ.  2544  ซึ่งจัดเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตลอดชีวิตของมนุษย์ทุกคน (Education is life) พลศึกษาและการกีฬาจึงเป็นสาระที่เรียนรู้และพัฒนาได้ตลอดชีวิต  ตั้งแต่เกิดจนตาย ทั้งนี้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น (Education for life)
เมื่อ พ.ศ. 2519 มีการประชุมรัฐมนตรีและผู้บริหารระดับสูงระหว่างประเทศด้านพลศึกษาและการกีฬาเป็นครั้งแรก  ณ  กรุงปารีส  ประเทศฝรั่งเศส  ในการประชุมได้เน้นให้ทุกประเทศตระหนักถึงความสำคัญของพลศึกษาและการกีฬาว่าเป็นสิทธิที่มนุษยชนทุกคนพึงได้รับ ดังข้อเสนอแนะว่า
1. ให้บรรจุวิชาพลศึกษาไว้ในหลักสูตร โดยกำหนดไว้ในกฎหมายทางการศึกษาของประเทศ
2. การจัดโครงการพลศึกษาและกีฬา  ควรเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม โดยเฉพาะบุคคลกลุ่มพิเศษ  เช่น  เด็กที่ไม่ได้รับการศึกษา  คนพิการ  ลูกกรรมกร  ผู้สูงอายุ  ผู้ป่วย
3. ให้สตรีมีส่วนร่วมในกิจกรรมพลศึกษาและกีฬามากขึ้น
4. การส่งเสริมกีฬาสำหรับปวงชนควรเริ่มจากโรงเรียน  เพื่อเป็นการเผยแพร่ไปสู่การเล่นในชีวิตประจำวัน
ข้อเสนอแนะดังกล่าวได้รับการตอบสนองแล้วโดยมีการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ  แห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับ พ.ศ. 2540 และในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และข้อ 4.  ดูจะเป็นข้อที่น่าสนใจและสำคัญที่สุด  เพราะ พลเมืองทุกคนต้องเข้าสู่ระบบโรงเรียนตามการศึกษาภาคบังคับอยู่แล้ว  โรงเรียนจึงเป็นสถาบันเริ่มแรกแห่งการปลูกฝังสิ่งทั้งหลายทั้งปวงให้แก่พลเมืองของประเทศตั้งแต่เยาว์วัย ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายกว่า เพราะ ไม้อ่อนดัดง่าย  ไม้แก่ดัดยาก และถ้าทำได้จะเป็นการเรียนรู้หรือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ค่อนข้างถาวรและยังสอดคล้องกับแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติที่การกีฬาแห่งประเทศไทยเป็นผู้จัดทำเพื่อให้สอดประสานกับองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ความคงทนถาวรใน       ทัศนคติ  ความรู้ ตลอดจนการปฏิบัติเกี่ยวกับการออกกำลังกายเป็นเป้าหมายสุดปรารถนา เพราะนั่นย่อมหมายถึงพฤติกรรมของผู้มีสมรรถภาพทางกาย (สุขภาพ) ที่ดี
พ.ศ. 2521  UNESCO ได้ประกาศกฎบัตรหรือปฏิญญาระหว่างประเทศเกี่ยวกับการพลศึกษาและกีฬาไว้ 10 ประการ
1. การพลศึกษาและกีฬา  เป็นสิทธิขั้นมูลฐานที่พึงมีหรือได้รับของมนุษย์ทุกคน
2. การพลศึกษาและกีฬา  เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตลอดชีวิต ที่มีความสำคัญในกระบวนการศึกษา
3. การจัดโครงการพลศึกษาและกีฬา ควรคำนึงถึงความเหมาะสมกับบุคคล และสังคมของประเทศนั้น ๆ
4. การสอน การฝึก และการบริหารงานพลศึกษาและกีฬา ควรกระทำโดยบุคลากรหรือผู้เชี่ยวชาญในวิชาชีพ
5. การพลศึกษาและการกีฬาจะสัมฤทธิผลได้  ต้องมีอุปกรณ์อย่างเพียงพอ
6. การวิจัยและการประเมินผล  เป็นสิ่งจำเป็นยิ่งในการพัฒนาการพลศึกษาและการกีฬา
7. การเผยแพร่และเก็บข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ย่อมช่วยส่งเสริมการพลศึกษาและการกีฬา
8. การพลศึกษาและการกีฬาจะก้าวหน้าไปได้ด้วยดี เมื่อมีการร่วมมือกับสื่อมวลชน
9. สถาบันต่าง ๆ ของรัฐ เป็นกำลังสำคัญในการทำให้การพลศึกษาและการกีฬาเจริญก้าวหน้า
10. ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ถือว่าเป็นการส่งเสริมการพลศึกษาและการกีฬาเช่นกัน
UNESCO  ได้ให้ข้อเสนอแนะในการส่งเสริมการพลศึกษาและกีฬาเพื่อปวงชนไว้ดังนี้
1. การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย  ในการจัดกิจกรรมกีฬาเพื่อปวงชน  ให้ครอบคลุมบุคคลเหล่านี้ด้วยคือ  เด็กหญิงและสตรี  ผู้สูงอายุ  คนพิการ  ผู้ไม่รู้หนังสือ  เด็กที่ไม่ได้เข้าเรียนหรือออกจากโรงเรียนกลางคัน  ประชาชนในชนบท  ชนกลุ่มน้อย  กลุ่มศาสนา  ผู้ตกงาน  ผู้ใช้แรงงานในสถานประกอบการ
2. แนวการดำเนินงาน
- รัฐบาลต้องกำหนดเป็นนโยบายตามหลักสิทธิมนุษยชน  ให้ประชากรทุกคนมีโอกาสเล่นกีฬาเพื่อสุขภาพ
- ต้องให้การศึกษาและให้โอกาสแก่ประชากรเข้าร่วมกิจกรรมกีฬา
- การจัดกีฬาต้องคำนึงถึง  เพศ  อาชีพ  สุขภาพ  และความต้องการของประชากรแต่ละกลุ่ม
- การจัดกิจกรรม  ต้องสนองตอบความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย  โดยเฉพาะเด็กต้องใช้หลักโภชนาการเข้ามาเสริมด้วย
- รัฐควรจัดสถานที่บริการกีฬาให้แก่ประชาชน
- มีการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลข่าวสารเพื่อเผยแพร่ความรู้
- แต่ละประเทศต้องมีองค์กรระดับชาติทำหน้าที่เป็นศูนย์ข่าวสารการกีฬาแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสานงาน
3. วิธีการจูงใจ
- ต้องพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาด้านพลศึกษาตั้งแต่ระดับประถมศึกษา
- ต้องมีการพัฒนาบุคลากรในสายงานการฝึกหัดครู  ให้มีความสามารถในการสอนพลศึกษาในโรงเรียนได้ดี
- ต้องจัดหลักสูตรให้มีวิชาพลศึกษาทั้งในประถมศึกษา  มัธยมศึกษา  และอุดมศึกษา
- ต้องเปิดโอกาสให้ชุมชนได้ใช้สถานที่และอุปกรณ์กีฬาของโรงเรียนด้วย
- ต้องจัดสร้างอุปกรณ์และสนามกีฬาสาธารณะเพื่อให้ทุกคนมีโอกาสมาใช้
- ต้องหาผู้นำซึ่งเป็นนักการเมือง  นักธุรกิจ  นักอุตสาหกรรม  ผู้นำในชุมชน  เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีชักจูงให้บุคคลอื่นเข้าร่วมกิจกรรมกีฬา
- โรงงาน  บริษัท  และสถานประกอบการ  ควรเปิดโอกาส  จัดสถานที่และอุปกรณ์  ให้พนักงานมีโอกาสเล่นกีฬา
- รัฐควรจัดให้มีเทศกาลกีฬาประจำปี
- รัฐต้องหาวิธีจัดหาอุปกรณ์และสถานที่เล่นกีฬาในราคาถูกให้แก่เยาวชนและประชาชนกลุ่มรายได้ต่ำ
สำหรับเด็กและเยาวชนในวัยเจริญเติบโต  การออกกำลังกายและการเล่นกีฬามีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตเท่า ๆ กับอาหาร  พันธุกรรม  และสิ่งแวดล้อม  เพราะฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการเจริญ    เติบโตตัวที่เรียกว่า  growth hormone (GH) ซึ่งทำหน้าที่กระตุ้นให้ร่างกายนำสารอาหารโปรตีนไปสร้างเนื้อเยื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อและโครงสร้างของกระดูก ตลอดจนช่วยกระตุ้นให้ร่างกายนำแคลเซี่ยมไปเกาะตามโครงสร้างของกระดูกเป็นผลให้กระดูกเจริญเติบโตทางยาวและแข็งแรงในวัยที่ยังมีการเจริญเติบโตนั้น มีปัจจัยกระตุ้นให้มีการหลังฮอร์โมนชนิดนี้มากขึ้น  และทำให้มีการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้น
ปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นการหลั่ง growth hormone คือ
1. การออกกำลังกาย
2. ความหิว  ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อน้ำตาลในเลือดลดลง
3. กรดอะมิโน
4. การนอนหลับสนิท
5. ความตื่นเต้นที่ไม่รุนแรงหรือเฉียบพลัน
โดยทั่วไปเด็กไทยแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงของการเจริญเติบโตดีขึ้น  แต่ความสูงเพิ่มขึ้นน้อยมากในขณะที่ความกว้างของร่างกายเพิ่มขึ้น (เพิ่มน้ำหนัก)  จนเป็นสาเหตุของการเกิดโรคอ้วน (obesity) ตามมา  โดยเฉพาะเด็กในชุมชนเมือง เพราะเด็กในชุมชนเมืองมักมีฐานะเศรษฐกิจดี  มีการตื่นตัวเรื่องการดื่มนมมากขึ้น  ได้รับไขมันมากขึ้น  ต่างจากเด็กในชนบทและเด็กในชุมชนเมื่องที่มีเศรษฐกิจไม่ดีนัก มีแคลเซี่ยมต่ำ  (แคลเซียมช่วยให้การหดตัวทำงานของกล้ามเนื้อเป็นไปด้วยดี)  ข้อมูลดังกล่าวนี้จึงเป็นเรื่องน่าคิด สำหรับนักพลศึกษาและสุขศึกษา  ในการใช้ข้อมูลหรือใช้ประโยชน์จากการออกกำลังกายและโภชนาการ  เพื่อการวางแผนแก้ไขให้สอดคล้องเหมาะสมได้ผลดีต่อไป  (วาสนา  คุณาอภิสิทธิ์. 2541: 13-16)
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเล็งเห็นความสำคัญของภาวะโภชนาการกับการเจริญเติบโตของเยาวชน จึงทรงมีพระราชดำริให้ตั้งโรงงานผลิตนมอัดเม็ดขึ้นในพระตำหนักจิตรลดาเพื่อเป็นอาหารเสริมให้แก่เด็กในท้องถิ่นต่าง ๆ เพราะนมมีแคลเซียมที่ช่วยให้การทำงานของกล้ามเนื้อมีประสิทธิภาพมากขึ้น


ที่มา:โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาหนังสือและโฮมเพจ ชุดพัฒนาสังคมตามแนวพระราชดำริ ศูนย์ศึกษาแนวพระราชดำริ

สิ่งที่ชาวลพลศึกษาควรมีและเป็น


พละ หรือ พละ 5 คือ กำลัง 5 ประการได้แก่
  1. ศรัทธาพละ ความเชื่อ กำลังการควบคุมความสงสัย
  2. วิริยะพละ ความเพียร กำลังการควบคุมความเกียจคร้าน
  3. สติพละ ความระลึกได้ กำลังการควบคุมความประมาท การไม่ใส่ใจ ใจลอย ไร้สติ
  4. สมาธิพละ ความตั้งใจมั่น กำลังการควบคุมการวอกแวกเขว่ไขว่ ฟุ้งซ่าน
  5. ปัญญาพละ ความรอบรู้ กำลังการควบคุมเพิกเฉยไม่สนใจ หลงงมงาย
พละทั้งห้านี้ เป็นหลักธรรมที่ผู้เจริญวิปัสสนาพึงรู้ ศรัทธาต้องปรับให้สมดุลกับปัญญา วิริยะต้องปรับให้สมดุลกับสมาธิ ส่วนสติพึงเจริญให้มากเนื่องเป็นหลักที่มีสภาวะปรับสมดุลของจิตภายในตัวเองอยู่แล้ว เป็นหลักธรรมที่คู่กับอินทรีย์5 คือศรัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ โดยมีความเหมือนความแตกต่างและความเกี่ยวเนื่องคือ พละ5เป็นสภาวะที่เกิดขึ้นแก่จิตในปัจจุบันที่ทำให้เกิดมีขึ้น ส่วนอินทรีย์คือพละ5ที่สะสมจนตกผลึก เหมือนกับนิสัย หรือสันดาน เช่นผู้มีสมาธิทรีย์มากก็อาจทำสมาธิได้ง่ายกว่าผู้มีน้อยกว่า ผู้มีปัญญินทรีย์มากก็มีปกติเป็นคนฉลาด พละ5อาจเกิดขึ้นได้ดีและสั่งสมเป็นอินทรีย์ได้ไวคือผู้ทีบวชรือประพฤติพรหมจรรย์ และผู้ปฏิบัติโมเนยยะปฏิบัติ

วันอังคารที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เรียนวิชาลูกเสือแล้วได้อะไร

เรียนวิชาลูกเสือแล้วได้อะไร
ลูกเสือไทยกำเนิดขึ้นมาแล้ว 100 ปี โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แห่งราชวงศ์จักรีได้พระราชทานกำเนิดลูกเสือไทยเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2454
หลายคนเคยสงสัยหรือมีข้อกังขาเกี่ยวกับวิชาเรียนที่ถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับของประเทศไทย ที่เรียกวิชานั้นว่า ลูกเสือโดยบางคนเริ่มเรียนวิชาลูกเสือตั้งแต่ชั้นป.1 – ม.3 นับระยะเวลาได้ก็ร่วม 9 ปี หากถามว่า 9 ปีที่ผ่านพ้น การเรียนวิชาลูกเสือแล้วสร้างอะไรให้กับผู้เรียนได้บ้าง ให้ลองนึกกันเล่นๆ อาจจะไม่ใช่วิชาที่สลักสำคัญมากนัก เพราะไม่มีเกรดแต่หากไม่เรียนก็ไม่สามารถจบได้
บางคนอาจจะจำภาพที่ต้องมานั่งแต่งเครื่องแบบลูกเสือ ที่ดูพะรุงพะรัง มีผ้าผูกคอ หมวก เข็มขัด ฯลฯ รวมถึงเครื่องหมายต่างๆ ที่ต้องติดโชว์ในเครื่องแบบ ถ้าหากวันไหนแต่งตัวพลาดไปอาจจะถูกลงโทษในวิชาเรียนก็เป็นไปได้
บางคนอาจจะจำการผูกเงื่อนพิรอด เงื่อนขัดสมาธิ เงื่อนบ่วงสายธนู เงื่อนตะกรุดเบ็ด เงื่อนกากบาท กิจกรรมรอบกองไฟในยาม เข้าค่ายการเดินทางไกล การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ได้ร้องเพลง ฝึกการแสดง




 


ทำไมเด็กไทยต้องเรียนลูกเสือ?
หลายคนคงสงสัยว่าทำไมจึงต้องเรียนวิชาลูกเสือ และวิชานี้มีความสำคัญมากมายขนาดไหน จึงต้องถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนของกระทรวงศึกษาธิการมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน
สมมาต สังขพันธ์ ผู้อำนวยการส่วนพัฒนาลูกเสือและบุคลากร สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ บอกเล่าถึงหัวใจสำคัญของการเรียนลูกเสือ ก่อนจะไขข้อสงสัยที่เด็กรุ่นใหม่ๆ อาจดูแคลนการเรียนลูกเสือ ทำนองว่า จะเรียนไปทำไม เรียนแล้วได้อะไร เกิดประโยชน์อะไรกับชีวิตทั้งอธิบายเพิ่มเติมว่าในยุคที่ค่านิยมของผู้คนเปลี่ยนไป หลักสูตรลูกเสือมีการปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงบ้าง
ย้อนไปหลายสิบปีก่อนหน้านี้ การเรียนลูกเสือจะมีหลักสูตรการสอนที่ทำให้ผู้เรียนนำไปใช้ได้จริง มีทั้งการสอนปีนต้นไม้ การใช้กิ่งไม้จุดไฟเมื่ออยู่ในป่า การทำกับข้าว มีการตั้งแคมป์ เข้าค่าย เดินป่า แล้วก็มีการกำหนดให้ลูกเสือสามัญทำหน้าที่เป็นลูกเสือจราจร ให้ความสะดวกและดูแลความปลอดภัยให้แก่คนใช้รถใช้ถนน แล้วก็มีการบำเพ็ญประโยชน์อื่นๆ อีก เช่น ในอดีต หลายๆ โรงเรียนในกรุงเทพฯ ก็จะให้ลูกเสือ เนตรนารี ไปบำเพ็ญประโยชน์ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง คอยช่วยเหลือคนเฒ่าคนแก่ คอยช่วยขนสัมภาระ ขนข้าวขนของขึ้นรถไฟ ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้คนที่มาใช้บริการ




น้อยนิดมหาศาลกับการเป็น ลูกเสือ

ในบ้านเราวิชาลูกเสือเมื่อก่อนเคยเป็นอย่างไร ก็ยังคงเป็นอย่างนั้น ขณะที่ลูกเสือในประเทศอื่น ต่างก้าวล้ำในความเป็นลูกเสือและให้ความสำคัญกับมัน โดยเฉพาะการปรับตัวของเด็กๆ และหลักสูตรที่จะนำลูกเสือไปสู่ความร่วมสมัยของสังคมและเทคโนโลยีของเด็กๆ ที่ก้าวไกลไปมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ เกมออนไลน์ ที่เกี่ยวพันกับบรรดาเด็กๆ ที่เรียนลูกเสือโดยตรง
แม้แต่ในโลกภาพยนตร์ยังดึงเอาความเป็นลูกเสือ มาใช้ในการดำเนินเรื่องเพื่อให้เกิดเรื่องราว เช่น อัพ ปู่ซ่าบ้าพลัง’ (UP) ที่ตัวละครเด็กรูปร่างอ้วนกลมนามว่า รัสเซลซึ่งเป็นลูกเสือวัย 9 ขวบ ต้องใช้ความพยายามในการที่จะได้ตราสัญลักษณ์ที่ให้ความช่วยเหลือคนชรา จึงจะทำให้เขากลายเป็นลูกเสือที่ครบสมบูรณ์แบบและได้ขึ้นรับตราสัญลักษณ์ครบตามกำหนด และความพยายามของลูกเสือ นักผจญภัยคนนี้ก็เกิดเป็นเรื่องราวให้น่าติดตามในภาพยนตร์เรื่อง อัพ
ปกติแล้วเหล่าลูกเสือทั่วโลก ที่สามารถก่อตั้งเต็นท์ได้, ผูกเงื่อนได้ และเดินทางไกลประสบความสำเร็จจะมีตราสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความสำเร็จดังกล่าวติดประทับอยู่บริเวณแขนเสื้อ ลูกเสืออเมริกาก้าวล้ำกว่าชาติไหนๆ เพราะจะเพิ่มอีกหนึ่งความสำเร็จเข้าไป เป็นความสามารถในด้าน วิดีโอเกมลูกเสืออเมริกาคนไหนที่ต้องการจะได้ที่ล็อกเข็มขัด หรืออาร์มตราเชิดชูเกียรติความสามารถด้านวิดีโอเกม จะต้องมีความรู้เกี่ยวกับระบบการจัดเรตติ้งเกม สามารถแบ่งเวลาในการเล่นเกมกับการทำประโยชน์ในชีวิตด้านอื่นๆ ได้ นอกจากนั้นยังต้องมีความเข้าใจในการเล่นเกมและสามารถอธิบายให้ความรู้กับผู้ปกครองได้

ขอบพระคุณข้อมูลจาก สโมสรลูกเสืออาสาไท

วันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เรามารู้จักท่านผู้ก็กำเนิดลูกเสือโลกกัน

ผู้ก่อตั้งลูกเสือโลก คือ ลอร์ดเบเดนโพเอลล์( บี.พี. ) ชาวอังกฤษ ( เกิด 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2400)



วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

กฎและคำฏิญาณของลูกเสือที่ทุกคนไม่เคยรู้

                  คำปฏิญาณของลูกเสือไม่มีคำว่า "อย่า" หรือ "ต้อง" คือไม่มีการห้ามหรือบังคับแต่เป็นคำปฏิญาณ
หรือคำมั่นสัญญาที่ลูกเสือและผู้บังคับบัญชาได้้กล่าวรับรองด้วยเกียรติของตนเอง และด้วยความสมัครใจ ส่วน
กฎของลูกเสือได้กำหนดไว้เป็นกลาง เพื่อให้ลูกเสือถือเป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวัน และโดยผู้บังคับบัญชา
ลูกเสือจะต้องเคร่งครัดในการปฏิบัติตามกฎของลูกเสือเป็นพิเศษ เพื่อบำเพ็ญตนให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูกเสือ
คำปฏิญาณและกฎของลูกเสือ ทำให้้ลูกเสือมีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ รู้จักบำเพ็ญ
ประโยชน์แก่ผู้อื่น มีระเบียบวินัย อยู่ในกรอบประเพณีอันดีงาม และไม่ก่อให้เกิดความยุ่งยากใด ๆ ในบ้านเมือง 
ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าการลูกเสือเป็นกำลังสำคัญส่วนหนึ่งในการสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศชาติคำว่า 
"
ปฏิญาณ" ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานแปลว่า "การให้คำมั่นโดยสุจริตใจ"ลูกเสือจะต้องสำนึกว่า 
เขากล่าวคำปฏิญาณด้วยความสมัครใจของเขาเอง อนึ่ง เขาจะต้องเข้าใจด้วยว่า ผู้จะเรียกได้ว่าเป็น "คนจริง" 
เพื่อให้ผู้อื่นนับถือหรือเชื่อถือได้นั้นจะต้องเป็นผู้รักษาคำพูด โดยเฉพาะที่เป็นคำปฏิญาณหรือคำมั่นสัญญาของ
ตนกล่าวคือ ข้าสัญญาว่าจะทำอย่างไรแล้วต้องทำเหมือนปากพูดทุกอย่าง ดังคำปฏิญาณที่กล่าวว่า
               ด้วยเกียรติของข้า ข้าสัญญาว่า

               
ข้อ ๑ ข้าจะจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
               
ข้อ ๒ ข้าจะช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อ
               
ข้อ ๓ ข้าจะปฏิบัติตามกฎของลูกเสือ

               
จากคำปฏิญาณข้อที่ ๑ นั้น แสดงให้เห็นว่าลูกเสือมีหน้าที่ดังต่อไปนี้

              
 ก. หน้าที่ต่อชาติ
               
ชาติไทย คือ แผ่นดินและน่านน้ำที่รวมกันเรียกว่าประเทศไทย ประกอบด้วยประชาชนพลเมืองที่
รวมกันเรียกว่าคนไทย ธงชาติ เป็นเครื่องหมายแทนชาติ ฉะนั้น ธงชาติจึงเป็นสิ่งที่ควรแก่การเคารพเป็นหน้าที่
ของลูกเสือทุกคน จะต้องแสดงความเคารพในโอกาสที่ชักธงขึ้นสู่ยอดเสา และเวลาชักธงลงจากยอดเสาพิธี
ชักธงชาติขึ้นสู่เสา หรือชักธงลงจากเสานี้ เป็นพิธีสำคัญอย่างหนึ่งของลูกเสือซึ่งจะต้องกระทำด้วยความเป็น
ระเบียบเรียบร้อย ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ชักธงลงควรถือว่าเป็นเกียรติที่ได้รับมอบหมายให้ทำงานนี้ และจะต้อง
ระมัดระวังไม่ให้ส่วนหนึ่งส่วนใดของธงสัมผัสกับพื้นดินเป็นอันขาด ลูกเสือไม่ควรกระทำการใด ๆ ในอันที่จะ
นำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่เกียรติของธงชาติ เช่น นำผืนธงไปปูพื้นเช็ดส่งของ หรือเหยียบย่ำ และกองไว้
แทบเท้า ธงชาติไทยเรียกว่า "ธงไตรรงค์" แปลว่า ธงสามสี ลูกเสือควรจะทราบด้วยว่าแต่ละสีมีความหมาย
อย่างไร สัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของธงชาติไทยคือ"เพลงชาติ" ลูกเสือและผู้บังคับบัญชาลูกเสือทุกคนจะต้อง
สามารถร้องเพลงชาติได้อย่างถูกต้อง

              
 ข. หน้าที่ต่อศาสนา
               
ลูกเสือจะนับถือศาสนาใด ๆ ก็ได้ เพราะทุกศาสนาก็มีความมุ่งหมายอย่างเดียวกันคือให้ให้บุคคล
เป็นคนดี ได้แก่ การละเว้นความชั่ว กระทำแต่ความดี และทำใจให้ผ่องใสบริสุทธิ์

               
ค. หน้าที่ต่อประมหากษัตริย์
               
ผู้กำกับลูกเสือพึงหาวิธีการต่าง ๆ ที่จะทำให้ลูกเสือสนใจในพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์
โดยเน้นถึงเวลาที่พระองค์ทรงอุทิศให้แก่บ้านเมือง และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนประชาชนใน
ท้องถิ่นต่าง ๆทั่วราชอาณาจักรพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของชาติ เป็นที่รวมแห่งความเคารพสักการะและ
ความสามัคคีของคนไทยทั้งชาติ นอกจากนั้น พระองค์ทรงเป็นพระประมุขของคณะลูกเสือแห่งชาติด้วย

               
 ง. การบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่น
                
การบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่นเป็นหลักการสำคัญประการหนึ่งของลูกเสือและเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้
การลูกเสือมีชื่อเสียง ได้รับการยกย่องจากประชาชนโดยทั่วไปแหล่งหรือโอกาสที่ลูกเสือจะบำเพ็ญประโยชน์
นั้นควรเริ่มจากสิ่งที่ใกล้ตัวเด็กก่อนแล้วขยายออกไปตามวัยและความสามารถของเด็ก กล่าวคือ
               
๑. บ้านของลูกเสือ ควรส่งเสริมให้เด็กทำงานในบ้านหรือบำเพ็ญประโยชน์ต่อครอบครัว เพื่อเป็น
การเพาะนิสัยที่ดีให้แก่เด็ก
               
๒. โรงเรียนหรือที่ตั้งกองลูกเสือ ผู้บังคับบัญชาลูกเสือควรส่งเสริมให้เด็กได้ทำงานเป็นประโยชน
์ต่อเพื่อน ต่อห้องเรียน ต่อโรงเรียนให้มากที่สุด โดยสอนให้ลูกเสือตระหนักว่างานเป็นสิ่งที่มีเกียรติ งานเท่านั้น
เป็นเครื่องวัดคุณค่าของคน

               กฎของลูกเสือ
                         
ข้อ ๑ ลูกเสือมีเกียรติเชื่อถือได้
                         
ข้อ ๒ ลูกเสือมีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และซื่อตรงต่อผู้มีพระคุณ
                         
ข้อ ๓ ลูกเสือมีหน้าที่กระทำตนให้เป็นประโยชน์และช่วยเหลือผู้อื่น
                         
ข้อ ๔ ลูกเสือเป็นมิตรของคนทุกคน และเป็นพี่น้องกับลูกเสืออื่นทั่วโลก
                         
ข้อ ๕ ลูกเสือเป็นผู้สุภาพเรียบร้อย
                         
ข้อ ๖ ลูกเสือมีความเมตตากรุณาต่อสัตว์
                         
ข้อ ๗ ลูกเสือเชื่อฟังคำสั่งของบิดามารดา และผู้บังคับบัญชาด้วยความเคารพ
                         
ข้อ ๘ ลูกเสือมีใจร่าเริง และไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก
                         
ข้อ ๙ ลูกเสือเป็นผู้มัธยัสถ์
                         
ข้อ ๑๐ ลูกเสือประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ

               
กฎของลูกเสือ ข้อ ๑๐ นี้ ได้ดัดแปลงมาจากกฎของลูกเสือข้อ ๑๐ ตามธรรมนูญของสมัชชา
ลูกเสือโลกที่ว่า "ลูกเสือเป็นผู้สะอาดในทางความคิด วาจา และกระกระทำ"

               
ข้อ ๑. ลูกเสือมีเกียรติเชื่อถือได้
               
ลูกเสือที่แท้จริงถือว่าเกียรติของเขาสำคัญกว่าสิ่งใด เกียรติของเขาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คนที่รู้จักรักษา
เกียรติเป็นผู้เชื่อถือได้เสมอ เขาจะไม่กระทำสิ่งใด ๆ ที่เสียเกียรติ เช่น พูดเท็จกับผู้บังคับบัญชา หรือนายจ้าง 
หรือผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของเขา และเขาจะทำตัวให้เป็นที่นับถือของคนทั่วไป ในฐานะที่เป็นลูกเสือวิสามัญ 
ท่านต้องไม่ยอมให้สิ่งที่ยั่วยวนใจ ไม่ว่าจะลึกลับหรือรุนแรงเพียงไรมาชักจูงให้ท่านกระทำการใด ๆ ที่ไม่สุจริต 
หรือเป็นที่น่าสงสัย ท่านจะไม่ละเมิดคำมั่นสัญญาเป็นอันขาด

               
ข้อ ๒. ลูกเสือมีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และซื่อตรงต่อผู้มีพระคุณ
               
ในฐานะเป็นพลเมืองดี ท่านจะต้องระลึกเสมอว่าท่านเป็นคนหนึ่งในคณะ หรือเป็นอิฐก้อนหนึ่งใน
กำแพง ท่านจะต้องทำหน้าที่ของท่านให้ดีที่สุด และซื่อตรงกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับท่าน เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง 
นายจ้างของท่าน ท่านจะต้องไม่ทำลายเกียรติของท่านด้วยการเล่นไม่ซื่อ นอกจากนั้น ท่านต้องไม่ทำให้ผู้ที่
ไว้วางใจท่าน ไม่ว่าชายหรือหญิงต้องผิดหวัง บรรพบุรุษของท่านได้ทำงานด้วยความเข้มแข็ง รบด้วยความ
ทรหด และตายด้วยความองอาจ เพื่อรักษาบ้านเมืองไว้ให้ท่าน ขออย่าให้บรรพบุรุษของท่านมองลงมาจาก
สวรรค์แลเห็นท่านเที่ยวเตร่ เอามือใส่กระเป๋าโดยไม่ได้ทำอะไรเพื่อบ้านเมืองเลย 

               
ข้อ ๓. ลูกเสือมีหน้าที่กระทำตนให้เป็นประโยชน์และช่วยเหลือผู้อื่น
               
ลูกเสือจะพยายามให้ความเมตตากรุณา เพื่อบำเพ็ญประโยชน์ต่อประชาชนอยู่เสมอ ความคิดเห็น
ของเขามีว่าคนทุกคนต้องตาย แต่ท่านควรจะทำใจของท่านว่าก่อนเวลาจากโลกนี้ไปตามวิถีทางของธรรมชาติ
ท่านควรจะทำ ความดีบ้าง ฉะนั้น จงทำทันที เพราะท่านไม่รู้เลยว่าเมื่อใดท่านจะต้องล่วงลับไป

               
ข้อ ๔. ลูกเสือเป็นมิตรของคนทุกคนและเป็นพี่น้องกับลูกเสืออื่นทั่วโลก
               
ในฐานะที่เป็นลูกเสือวิสามัญ ท่านจะต้องยอมรับรู้ว่าคนอื่นเป็นเพื่อนมนุษย์ และท่านต้องไม่รังเกียจ
ความแตกต่างในเรื่องขาดความคิด วรรณะ ศาสนา หรือชาติบ้านเมือง ท่านต้องขจัดอคติของท่านและมองหา
จุดดีของคนอื่น ส่วนจุดชั่วนั้นคนโง่ก็ย่อมวิจารณ์ได้ ถ้าท่านแสดงไมตรีจิตต่อคนชาติอื่นได้เช่นนี้ก็นับว่าท่านได้
ช่วยก่อให้เกิดสันติภาพและไมตรีจิตระหว่างประเทศและมวลมนุษย์ชาติได้

               
ข้อ ๕. ลูกเสือเป็นผู้สุภาพเรียบร้อย
               
ในฐานะที่ท่านเป็นลูกเสือวิสามัญ ท่านจะต้องสุภาพและคำนึงถึงผู้หญิง คนแก่ เด็กและบุคคลทั่ว ๆ 
ไป แต่ยิ่งกว่านั้น ท่านจะต้องสุภาพต่อฝ่ายตรงข้ามกับท่านด้วย รวมความว่า ท่านจะต้องเป็นสุภาพบุรุษ คือผู้
ปฏิบัติตามกฎแห่งการบำเพ็ญประโยชน์ของลูกเสือ

               
ข้อ ๖. ลูกเสือมีความเมตรากรุณาต่อสัตว์
               
สัตว์ทั้งหลาย มีความรักและหวงแหนชีวิตของตนยิ่งกว่าสิ่งใด ต่างก็ดิ้นรนต่อสู้เพื่อให้มีชีวิตอยู่รอด 
และปลอดภัยจากอันตราย ทุกชีวิตปรารถนาความสุข ความรัก ความอบอุ่น และการช่วยเหลือเกื้อกูล แต่เกลียด
กลัวและหวาดระแวงต่อการล่วงเกิน เบียดเบียน และทำร้าย ภาระกิจสำคัญที่สุดของลูกเสือวิสามัญ คือการช่วย
เหลือผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์ และการบริการผู้อื่นให้ได้รับความสุข ดังนั้น ลูกเสือวิสามัญทุกคน จึงควรเป็นผู้
ที่มีความรักและความเมตตากรุณาต่อสัตว์ด้วย

               
ข้อ ๗. ลูกเสือเชื่อฟังคำสั่งของบิดามารดา และผู้บังคับบัญชาด้วยความเคารพ
               
ในฐานะที่เป็นลูกเสือวิสามัญ ท่านย่อมบังคับตนเองและเต็มใจเชื่อฟังคำสั่งของพ่อแม่ ครู อาจารย์ 
นายหมู่ และผู้กำกับลูกเสือ โดยชอบด้วยเหตุผล ไม่มีการโต้แย้ง ชุมชนที่มีวินัยดีเป็นชุมชนที่มีความสุขที่สุด 
แต่วินัยต้องเกิดมาจากภายใน มิใช่ถูกบังคับจากภายนอก ดังนั้น การปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้อื่นจึงเป็นสิ่ง
ที่มีคุณค่ามาก

               
ข้อ ๘. ลูกเสือมีใจร่าเริง และไม่ย่อท้อต่อความลำบาก
               
ในฐานะเป็นลูกเสือวิสามัญ คนอื่น ๆ จะคอยมองดูท่านและคิดอยู่เสมอว่าท่านคงจะไม่หัวเสียและ
จะยืนหยัดต่อสู้ด้วยความเข้มแข็งและร่าเริง อดทนในเมื่อมีเหตุการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้น

               
ข้อ ๙. ลูกเสือเป็นผู้มัธยัสถ์
               
ในฐานะท่านเป็นลูกเสือวิสามัญ ท่านจะมองไปข้างหน้าและจะไม่ยอมเสียเวลาหรือเสียเงินสำหรับ
ความสุขสำราญในปัจจุบัน แต่จะใช้โอกาสนั้น เพื่อให้ได้บรรลุความสำเร็จในหน้าที่ที่ท่านกระทำทั้งนี้เพื่อว่าจะ
ได้ไม่ต้องเป็นภาระแก่ผู้อื่น แต่กลับจะเป็นการช่วยเหลือผู้อื่นได้อีกด้วย

               
ข้อ ๑๐. ลูกเสือประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ
               
ในฐานะที่ท่านเป็นลูกเสือวิสามัญ ท่านต้องมีใจสะอาด คิดแต่เรื่องที่เป็นมงคล สามารถควบคุมสต
ิและจิตใจของตนเองไม่ให้ฟุ้งซ่านใน รูป-รส-กลิ่น-เสียง-สัมผัส และของมันเมาจนเกินกว่าเหตุ ท่านต้องเป็นตัว
ของท่านเอง และเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้อื่น ในทุกสิ่งทุกอย่างที่ท่านคิด-พูด และกระทำโดยเฉพาะท่านควรมีสัมมา
อาชีวะ คือ ต้องมีอาชีพที่สุจริตเพื่อความสุขของตนเองและสังคม